ใครที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
เรามักได้ยินว่าการที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดปัจจัยอื่นๆ ทิ้งไป อย่าง คนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวาน, เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25, มีประวัติความดันสูง, ไม่ชอบออกกำลังกาย, มีไขมันในเลือดผิดปกติ, มีประวัติการเป็นโรคเบาหวานตอนตั้งครรภ์ หรือ น้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กก. ฯลฯ ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นล้วนแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่ากรรมพันธ์ุนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงแล้ว การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการกิน ก็มีส่วนอย่างมาก
แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน เพราะโรคระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัย อีกกรณีจะพบโรคแทรกซ้อนต่างๆ จากการตรวจตั้งแต่เริ่มตรวจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง, ไตวายเฉียบพลัน อาการแทรกซ้อนของโรคไต เป็นโรคยอดฮิตที่พบได้บ่อย ซึ่งเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาปกติได้ แถมแผลหายช้า และติดเชื้อง่ายอีกด้วย
วิธีป้องกันโรคเบาหวาน
เบาหวานควบคุมได้ เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือยังไม่ได้เป็น ง่ายๆ เริ่มจากสำรวจความเสี่ยงของตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากน้อยแค่ไหน จากลิสต์กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้
- ปัญหารอบเอว น้ำหนักเกิน
- ขาดการออกกำลังกาย
- คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- อาการอื่นๆ ที่น่าสงสัย
ทั้งนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ความรู้และเตือนประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ระวังป่วยโรคเบาหวาน ผ่านเว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไว้ว่า สำหรับประเทศไทยพบแนวโน้มผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชน โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 ประมาณการของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน หากผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่สนใจดูแลสุขภาพตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ทำให้การทำงานของระบบหัวใจ หลอดเลือด ตา ไตและเส้นประสาท บกพร่องและอาจเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุวรรณชัย ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันโรคเบาหวานสำหรับประชาชนเพิ่มเติมไว้ในตอนท้าย ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักตัวและรอบเอวให้เหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัม/ เส้นรอบเอวต้องไม่เกินค่าส่วนสูง (เซนติเมตร) หารสอง
- รับประทานอาหารต่อวันให้ครบทั้ง 5 หมู่ เลี่ยงหวานจัด มันจัด เค็มจัด เน้นผักและผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลสูง
- ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่นิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน 5 ครั้ง/สัปดาห์
- จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
- หากคนในครอบครัวมีประวติการเป็นเบาหวาน ให้ควบคุมเรื่องอาหาร, การรับประทานยา, การเข้ารับการตรวจตามนัด และสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น ได้แก่ การเกิดบาดแผลโดยเฉพาะที่เท้า และอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
- หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก ชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
หลังจากที่สำรวจร่างกายและสงสัยว่าตัวเองกำลังอยู่ในความเสี่ยงว่าจะเป็น ให้รีบไปตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ซึ่งเหตุผลที่ควรเข้ารับการคัดกรองโรคเบาหวาน ก็เพื่อป้องกันการเกิดของโรค เพราะเบาหวานเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และการรักษาเบาหวานให้ดีตั้งแต่แรก สามารถป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อนทางตา ไต หัวใจ เท้า หมายความว่ายิ่งได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร็วมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ก็จะน้อยลงเท่านั้น สามารถไปตรวจได้โดยที่ยังไม่ต้องรอให้มีอาการหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ส่วนในผู้ที่ตรวจแล้วยังไม่พบว่าเป็นโรค แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็น ก็จะได้เตรียมตัวางแผนป้องกัน ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเบาหวานเกิดขึ้นมาได้ในอนาคต
อ้างอิง: