สมุนไพรแก้เบาหวาน สรรพคุณมีมากมายที่หลายคนไม่รู้!

สมุนไพรแก้เบาหวาน สรรพคุณมีมากมายที่หลายคนไม่รู้!

โรคเบาหวาน กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ จนก่อให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดตามมาและอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุของโรคเบาหวานนั้นอาจเกิดมาจาก กรรมพันธุ์ น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ความเครียดเรื้อรัง การติดเชื้อไวรัสบางชนิด หรือการได้รับยาบางชนิดที่ทำให้มีการสร้างน้ำตาลในเลือดมากขึ้น โดยเบาหวานนั้นจัดว่าเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารรักษาได้โดยการดูแลระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ปกติมากที่สุด บางคนอาจจะรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโดยเฉพาะหรือบางคนอาจจะเลือกรักษากับแพทย์ทางเลือกอย่างแพทย์แผนไทยโดยใช้สมุนไพรในการรักษา ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดคุยกันว่า สมุนไพรแก้เบาหวาน หรือลดเบาหวานได้จริงหรือ? ถ้าได้จริง มีสมุนไพรอะไรบ้างที่สามารถลดเบาหวานได้? เรามาหาคำตอบกัน

สมุนไพรช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ?

บางคนอาจจะมีความเชื่อว่าการรักษาโรคเบาหวานจากแพทย์แผนปัจจุบันที่เชี่ยวชาญทางด้านโดยเฉพาะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่บางคนก็คิดว่าการกินยาชนิดเดิมนาน ๆ อาจส่งผลข้างเคียงต่อตับและไตได้ จึงหันมาใช้ยาแผนโบราณที่มีอยู่ตามธรรมชาติอย่าง ‘สมุนไพร’  ในการรักษาเบาหวาน ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยหลายแห่งที่ชี้ว่าสมุนไพรสามารถรักษาเบาหวานได้จริงและยังเป็นพืชผักที่สามารถหาง่ายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลือกชนิดของสมุนไพรในการรักษาเบาหวาน ต้องเลือกสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง ๆ  ไม่ควรกินสมุนไพรตามกระแสที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยรักษาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็อาจจะแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดของโรคเบาหวาน อายุ และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นต้น

5 สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด

  1. มะระ

มะระ

สามารถรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เพราะมันมีส่วนประกอบจากสารที่มีคุณสมบัติในการช่วยต้านเบาหวานอย่างน้อย 4 ชนิด คือ

  • คาแรนติน (Charantin) มีคุณสมบัติช่วยลดน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลงได้
  • สารไวซีน (Vicine) ทำหน้าที่คล้ายอินซูลิน
  • สารโพลีเพปไทด์พี (Polypeptide-p) ทำหน้าที่คล้ายอินซูลิน
  • โปรตีนเลคติน (Lectin) ช่วยลดความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดลง

ข้อควรระวังในการรับประทานมะระ

  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากสารบางชนิดในผลหรือเมล็ดของมะระอาจทำให้มีเลือดประจำเดือนผิดปกติและเกิดการแท้งลูกได้
  • ไม่ควรรับประทานมะระเกิน 55 กรัมต่อวันหรือเทียบกับมะระขี้นกจำนวน 2 ลูกต่อวัน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่ายารักษาโรคที่ใช้อยู่สามารถทานควบคู่กับมะระได้
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดควรงดรับประทานมะระเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะมะระอาจส่งผลต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดระหว่างการผ่าตัดได้
  1. อบเชย

อบเชย

เป็นเครื่องเทศที่มีส่วนช่วยในการรักษาโรคเบาหวานได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านระบุว่าอบเชยมีคุณสมบัติในการควบคุมน้ำตาลในเลือดและรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยงานวิจัยระบุว่ามันเป็นตัวช่วยเพิ่มรับอินซูลินที่มีหน้าที่ดึงกลูโคสไปเป็นพลังงานยังเซลล์ต่าง ๆ ได้มากขึ้นและอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลินให้ดีขึ้นได้ จึงเป็นที่นิยมในการนำมาใช้ปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ข้อควรระวังในการรับประทานอบเชย

  • การรับประทานอบเชยช่วงเวลาสั้น ๆ ในปริมาณที่ไม่มากเกินไปถือว่าปลอดภัย
  • บางคนอาจมีอาการแพ้อบเชยได้
  • ผู้ป่วยโรคตับไม่ควรรับประทานอบเชยชนิดแคสเซีย (Cassia Cinnamon)
  • หากผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องการใช้อบเชยรักษาแทนการรักษาในแพทย์แผนปัจจุบันควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน
  1. เมล็ดลูกซัด

เมล็ดลูกซัด

สมุนไพรที่คุณแม่อาจคุ้นเคยกันดีในสรรพคุณด้านการเพิ่มน้ำนมและอาจจะมีประสิทธิภาพต่อการรักษาโรคเบาหวานได้ เนื่องจากเมล็ดลูกซัดนี้ประกอบไปด้วยเส้นใยที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลง อีกทั้งยังมีกลไกเช่นเดียวกับอบเชยที่ช่วยกระตุ้นการรับอินซูลินในร่างกายให้สามารถดึงน้ำตาลกลูโคสไปเป็นพลังงานได้

ข้อควรระวังในการรับประทานเมล็ดลูกซัด

  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานเพราะอาจก่อให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูกได้
  • อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการท้องเสีย มีน้ำนมไหลออกจากเต้า เหงื่อออกง่าย และผู้ที่เป็นโรคหืดอาจมีอาการแย่ลง
  • ผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งที่มีความไวต่อฮอร์โมนไม่ควรรับประทาน
  • เมื่อรับประทานเมล็ดลูกซัดควบคู่กับยารักษาโรคเบาหวานอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนเกิดอันตรายได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
  1. ตำลึง

ตำลึง

พืชผักสวนครัวที่หลายคนเชื่อว่ามีสรรพคุณเป็นยาต้านโรคเบาหวาน โดยจากการศึกษาพบว่าตำลึงประกอบไปด้วยสารที่มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนอินซูลินและยังสามารถช่วยหยุดยั้งเอนไซม์บางส่วนที่ก่อให้เกิดการผลิตกลูโคสขึ้นมาได้ การรับประทานตำลึงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจมีส่วนช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลง

ข้อควรระวังในการรับประทานตำลึง

  • ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนลองใช้ตำลึงเพื่อการรักษาเพราะมันอาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงเกินกว่าปกติ
  • ควรหยุดรับประทานก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะคุณสมบัติในการลดน้ำตาลในเลือดของมันอาจก่อให้เกิดปัญหาการควบคุมน้ำตาลระหว่างและหลังการผ่าตัดได้
  • สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรยังไม่ควรใช้ตำลึงในการรักษาเบาหวาน เพราะยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมารองรับว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย
  1. กระเทียม

กระเทียม

พืชสวนครัวที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการป้องกันและรักษาโรคกว่า 400 ชนิด เช่น สารอัลลิลโปรปิลไดซัลไฟท์ (Allyl Propyl Disulfide) และสารอัลลิลซิสเตอีน ซัลฟอกไซด์ (S-allyl Cysteine Sulfoxide) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้น ทำให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างดีเยี่ยม จึงมักนิยมใช้เป็นเครื่องเทศสำหรับการปรุงอาหาร

ข้อควรระวังในการรับประทานกระเทียม

  • อาจก่อให้เกิดกลิ่นปากและกลิ่นตัว ท้องเสีย หรือรู้สึกแสบร้อนกลางอกได้
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก หากมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีอย่างซาควินาเวียร์ (Saquinavir)
  • เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กระเทียมเพื่อการรักษาเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัย

การเลือกใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเบาหวาน แม้ว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแต่มันยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการถึงประสิทธิภาพในการรักษา แม้ว่าสมุนไพรต่าง ๆ จะมีคุณสมบัติในการลดน้ำตาลในเลือดได้จริงแต่หากเรารับประทานควบคู่กับยาเบาหวานที่แพทย์สั่งจ่ายยิ่งอาจทำให้น้ำตาลลดลงต่ำเกินกว่าเกณฑ์ได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจใช้สมุนไพรรักษาโรคเบาหวานผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณและความถี่ที่ควรใช้เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

อ้างอิง :