เบาหวาน หายขาดได้ไหม อยากหายขาดต้องทำอย่างไร
หลายคนมองว่าโรคเบาหวาน ที่ส่งผลก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน ยังคงเป็นเรื่องไกลตัวและไม่คิดว่าจะส่งผลต่อชีวิตตัวเองในตอนนี้ แต่อาจต้องคิดเสียใหม่ เพราะโรคนี้ไม่ต้องรอให้อายุมากก็สามารถเป็นได้ แม้จะว่าในช่วงผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นได้มากกว่า ด้วยเรื่องของอวัยวะต่างๆ ที่เริ่มเสื่อมการทำงานลง อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ สำหรับคนที่เป็นอยู่หรือกลัวว่าจะเป็น บทความนี้มีคำตอบในคำถามที่ว่า เมื่อเป็น เบาหวาน หายขาดได้ไหม แล้วถ้าอยากหายขาดต้องทำอย่างไร
เบาหวาน โรคที่ใครๆ ก็อาจเป็นได้
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดมีความเข้มข้นสูงมากกว่าปกติ เกิดจากกลไกควบคุมน้ำตาลในเลือดของร่างกายเสื่อมรรถภาพไปซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ดังนี้
- เกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินหลั่งน้อยกว่าปกติ หรือ ไม่สามารถที่จะสร้างอินซูลินได้ (อินซูลินเป็นตัวกระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ดึงน้ำตาลไปใช้)
- เกิดจากอวัยวะต่างๆ ในร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินน้อยลง ทำให้การดึงน้ำตาลไปใช้เกิดขึ้นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าสาเหตุที่หนึ่งหรือสองต่างก็ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพราะร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ จึงทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หิวน้ำบ่อย เมื่อไหร่ก็ตามที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เวลาเลือดผ่านไต น้ำตาลส่วนหนึ่งก็จึงถูกขับออกทางไตผ่านปัสสาวะ จึงเรียกว่า เบาหวาน หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงนานๆ ก็จะทำให้มีความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ตามมา เรียกว่า อาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
ปัจจุบันตามหลักการแพทย์ตะวันตกอธิบายว่า ยังไม่มีวิธีการรักษาใดๆที่ทำให้โรคเบาหวานหายขาดได้ 100% เพียงแต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถเข้าสู่ระยะสงบของโรคได้ (remission) คือ ไม่แสดงอาการ และมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในค่าปกติ เหมือนกับหายจากโรคแล้วซึ่งระยะสงบ หรือ ภาวะสงบนี้ อาจจะยาวนานได้เป็นเดือนๆ เป็นปี หรือ หลายสิบปี ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
สรุปแล้ว เป็นเบาหวาน มีโอกาสหายขาดได้ไหม
ในส่วนของการรักษาโรคเบาหวาน พญ. ปดิวรัดา ฉัตรทอง แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลธนบุรี 2 ให้ข้อมูลผ่านแชลแนล Thonburi 2 Hospital Channel ไว้โดยระบุว่า ขึ้นอยู่กับคำนิยามที่ให้ว่าการรักษาให้หายคืออะไร ซึ่งหากเป็นการหายโดยการที่ไม่ใช้ยา หรือหยุดยาทุกอย่างนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นภาวะเบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน มีการดูแลตัวเอง รับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอร่วมด้วย มีโอกาสที่จะหยุดยาได้ แต่ในเรื่องของการคุมอาหารยังคงที่จะต้องทำไปตลอดชีวิต ในกรณีที่คิดว่าร่างกายจะกลับไปจัดการกับน้ำตาลในอาหารจากทุกประเภท จะกินหวานเท่าไหร่น้ำตาลก็ไม่สูง ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถทำได้
ในขณะเดียวกัน รศ.พญ.นันทกร ทองแตง แพทย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวไว้ในแชนแนล siriraj channel ว่า หากผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะอ้วนร่วมด้วย และสามารถที่จะลดน้ำหนักตัวลงได้ 15-20% จากน้ำหนักตัวเริ่มต้น จะมีโอกาสหายจากโรคเบาหวาน และจะได้ผลดีจากผู้ที่เป็นเบาหวานมาไม่นาน ซึ่งหากลดน้ำหนักตัวแล้วก็ยังต้องรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มขึ้น จึงจะทำให้ไม่กลับมาเป็นโรคเบาหวาน
อย่างไรก็ตามโรคเบาหวานยังไม่มีวิธีที่จะรักษาให้หายขาด โดยที่ไม่คำนึงถึงเรื่องอาหารการกิน ผู้ป่วยสามารถทำได้เพียงคุมอาหาร หรือ คุมน้ำหนัก ในอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ในกรณีนี้แพทย์จะต้องพิจารณาว่าคนไข้มีลักษณะรูปร่างอย่างไร เช่น หากมีรูปร่างที่ผอมเกินไปอาจแนะนำให้คนไข้กินมากขึ้น แต่ไม่ใช่ในระดับที่มากเกินไป ปรับการกินให้อยู่ในระดับที่สมดุล ซึ่งถ้าน้ำตาลสูงเกินเกณฑ์ก็จะต้องใช้ยาเป็นตัวช่วย ในผู้ที่ผอมมากเกินไปอาจมีผลมาจากน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ไตเก็บน้ำตาลเอาไว้ ถ้าสูงเกินไปไตก็จะล้น ส่งผลให้น้ำหนักลด หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืนหากปัสสาวะเกิน 3 ครั้งเข้าข่ายที่น่าสงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน ส่วนผู้ที่มีรูปร่างอ้วนหรือน้ำหนักเกิน และมีน้ำตาลในเลือดสูงร่วมด้วย การลดความอ้วนหรือการลดอาหารในชีวิตประจำวันสามารถที่จะช่วยได้ เมื่อลดอาหารน้ำตาลก็จะไม่เยอะ พอน้ำหนักลดลงอินซูลินก็จะไม่ขี้เกียจซึ่งจะช่วยเสริมกัน ซึ่งแพทย์ก็จะต้องดูและวินิจฉัยเป็นกรณีไป
อ้างอิง :