วิธีป้องกันเบาหวาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แค่รู้เท่าทันก็ป้องกันได้

ใครที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

เรามักได้ยินว่าการที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดปัจจัยอื่นๆ ทิ้งไป อย่าง คนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวาน, เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25, มีประวัติความดันสูง, ไม่ชอบออกกำลังกาย, มีไขมันในเลือดผิดปกติ, มีประวัติการเป็นโรคเบาหวานตอนตั้งครรภ์ หรือ น้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กก. ฯลฯ ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นล้วนแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่ากรรมพันธ์ุนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงแล้ว การใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการกิน ก็มีส่วนอย่างมาก

แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน เพราะโรคระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัย อีกกรณีจะพบโรคแทรกซ้อนต่างๆ จากการตรวจตั้งแต่เริ่มตรวจ เช่น  โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง, ไตวายเฉียบพลัน อาการแทรกซ้อนของโรคไต เป็นโรคยอดฮิตที่พบได้บ่อย ซึ่งเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาปกติได้ แถมแผลหายช้า และติดเชื้อง่ายอีกด้วย

ใครที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

วิธีป้องกันโรคเบาหวาน

เบาหวานควบคุมได้ เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือยังไม่ได้เป็น ง่ายๆ เริ่มจากสำรวจความเสี่ยงของตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากน้อยแค่ไหน จากลิสต์กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้

  • ปัญหารอบเอว น้ำหนักเกิน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • อาการอื่นๆ ที่น่าสงสัย

ทั้งนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ความรู้และเตือนประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ระวังป่วยโรคเบาหวาน ผ่านเว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไว้ว่า สำหรับประเทศไทยพบแนวโน้มผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชน โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 ประมาณการของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน หากผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่สนใจดูแลสุขภาพตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ทำให้การทำงานของระบบหัวใจ หลอดเลือด ตา ไตและเส้นประสาท บกพร่องและอาจเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุวรรณชัย ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันโรคเบาหวานสำหรับประชาชนเพิ่มเติมไว้ในตอนท้าย ดังนี้

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวและรอบเอวให้เหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัม/ เส้นรอบเอวต้องไม่เกินค่าส่วนสูง (เซนติเมตร) หารสอง
  2. รับประทานอาหารต่อวันให้ครบทั้ง 5 หมู่ เลี่ยงหวานจัด มันจัด เค็มจัด เน้นผักและผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลสูง
  3. ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่นิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน 5 ครั้ง/สัปดาห์
  5. จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
  6. หากคนในครอบครัวมีประวติการเป็นเบาหวาน ให้ควบคุมเรื่องอาหาร, การรับประทานยา, การเข้ารับการตรวจตามนัด และสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น ได้แก่ การเกิดบาดแผลโดยเฉพาะที่เท้า และอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
  7. หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก ชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
  8. ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

วิธีป้องกันโรคเบาหวาน

หลังจากที่สำรวจร่างกายและสงสัยว่าตัวเองกำลังอยู่ในความเสี่ยงว่าจะเป็น ให้รีบไปตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ซึ่งเหตุผลที่ควรเข้ารับการคัดกรองโรคเบาหวาน ก็เพื่อป้องกันการเกิดของโรค เพราะเบาหวานเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และการรักษาเบาหวานให้ดีตั้งแต่แรก สามารถป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อนทางตา ไต หัวใจ เท้า หมายความว่ายิ่งได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร็วมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ก็จะน้อยลงเท่านั้น สามารถไปตรวจได้โดยที่ยังไม่ต้องรอให้มีอาการหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ส่วนในผู้ที่ตรวจแล้วยังไม่พบว่าเป็นโรค แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็น ก็จะได้เตรียมตัวางแผนป้องกัน ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคเบาหวานเกิดขึ้นมาได้ในอนาคต

อ้างอิง: