อาหารสำหรับเบาหวาน เป็นเบาหวานควรและไม่ควรกินอะไรบ้าง

ข้อแนะนำด้านอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน

 ปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวังมากที่สุดของผู้ป่วยเบาหวานก็คือ เรื่องของอาหาร เพราะอาหารมีส่วนสำคัญมากในการบรรเทาอาการเบาหวาน หรือเป็นหนักขึ้นกว่าเดิม หัวใจสำคัญที่สุดของการควบคุมเบาหวานคือ อาหารสำหรับเบาหวาน นั้นต้องกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป เพราะการกินมากไปจะทำให้น้ำตาลสูงขึ้น แต่ถ้ากินน้อยไปน้ำตาลก็จะต่ำและเป็นอันตรายอยู่ดี ดังนั้น การควบคุมอาหารและรู้จักเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย เลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเพื่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีโรคแทรกซ้อนก็จะลดลงด้วย โดยข้อแนะนำด้านอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน นั่นคือ การควบคุมอาหาร โดยมีหลักการควบคุมง่าย ๆ ดังนี้

ข้อแนะนำด้านอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  2. รับประทานข้าวเป็นหลัก สลับกับอาหารพวกแป้งเป็นบางมื้อ
  3. รับประทานพืชผักให้มาก และรับประทานผลไม้เป็นประจำ
  4. รับประทานเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดเป็นประจำ
  5. ดื่มนมให้พอเหมาะกับวัย
  6. หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน และเค็ม
  7. รับประทานอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่างหนึ่งมื้อ และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ห้ามงดอาหาร
  8. รับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อที่รางกายจะได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ โดยพิจารณาจากภาพให้รับประทานอาหารได้มากบริเวณฐาน และรับประทานน้อยบริเวณยอดสามเหลี่ยม
  9. รับประทานไขมันให้น้อย เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงการทอดใช้การย่าง อบ ต้ม หรือเผาแทนการทอด
  10. รับประทานน้ำตาลให้น้อยลง ก่อนรับประทานอาหารให้อ่านสลากอาหาร และหลีกเลี่ยง sucrose, dextrose, fructose, corn syrup หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมที่ใส่น้ำตาล หลีกเลี่ยงคุกกี้ เค้ก ลูกอม
  11. หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม โดยการเติมเกลือให้น้อย หลีกเลี่ยงอาหารกระป่อง ให้ชิมรสอาหารก่อนปรุง
  12. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ 

เป็นเบาหวาน ต้องคุมอาหารอะไร และสามารถกินอะไรได้บ้าง

 อาหารสำหรับเบาหวาน จำเป็นต้องลดทั้งหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ เป็นวิธีควบคุมและป้องกันเบาหวานที่สำคัญเพื่อการดูแลสุขภาพได้อย่างยั่งยืน โดยอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. อาหารที่ “ไม่ควร” รับประทาน 

  • น้ำตาลทุกชนิด เช่น น้ำตาลอ้อย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลก้อน น้ำผึ้ง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำลำไย ชาเขียว น้ำอัดลม ชา กาแฟปรุงสำเร็จ และขนมหวานต่างๆ เค้ก คุกกี้ โดนัท
  • ผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมข้นหวาน นมปรุงแต่งรสหวาน โยเกิร์ตปรุงแต่งรสชาติ นมเปรี้ยว
  • ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้เชื่อม ผลไม้ตากแห้ง เช่น กล้วยตาก ลูกเกด ลูกพลับ ลูกพรุน อินทผลัมตากแห้ง รวมถึงผลไม้ในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง
  • อาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ ไส้กรอก หมูสามชั้น น้ำมันมะพร้าว แกงกะทิ ไขมันนม เนย ครีม 

เนื่องจากอาหารเหล่านี้ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายจึงควรหลีกเลี่ยง แต่หากผู้ป่วยต้องการรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวานโดยไม่มีน้ำตาล ทางเลือกของสารให้ความหวานที่ใช้ปรุงแต่งในอาหารบางชนิด สามารถป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวานได้เช่นกัน

  1. อาหารที่รับประทานได้ “ไม่จำกัดปริมาณ”

  • ผักก้าน ผักใบ ผักใบเขียวทุกชนิด ควรรับประทานทุกวัน และทุกมื้อให้หลากหลายชนิดในหนึ่งวัน อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่แคลอรี่ต่ำ และมีใยอาหารสูง ทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง อีกทั้งใยอาหารยังช่วยดูดซับน้ำตาล ไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป ทำให้ร่างกายสามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้พอดี ได้แก่ ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง บวบ มะเขือ ฟัก แตงกวา น้ำเต้า ถั่วฝักยาว ถั่วงอก เป็นต้น จะรับประทานในรูปของผักสด หรือผักต้มก็ได้ แต่ไม่แนะนำในรูปของน้ำผักปั่น โดยเฉพาะน้ำผักปั่นแยกกาก ทำให้เราได้รับใยอาหารไม่ได้มากเท่าที่ควร

การรับประทานผักและผลไม้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้กำหนดให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณ 4-6 ทัพพี แต่หากเป็นผักต้มสุกจะต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า ขณะที่  สสส.ได้เผยผลวิจัยพบว่า การกินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ร้อยละ 33 และโรคมะเร็งได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่กินผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์

  1. อาหารที่รับประทานได้ แต่ต้อง “จำกัดปริมาณ” 

  • อาหารประเภทข้าว แป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือก มัน ฯลฯ อาหารเหล่านี้มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าน้ำตาล และมีโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกาย โดยอาหารจำพวกแป้งจะถูกย่อยเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ผู้เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงดหรือจำกัดจนเกินไป ควรได้รับให้เหมาะสมกับแรงงานและกิจกรรมที่ทำ การจำกัดข้าวหรือแป้งมากเกินไปกลับเป็นผลเสีย เพราะระดับน้ำตาลในเลือดอาจต่ำ เกิดอาการหิว ส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
  • ผลไม้ ผลไม้แต่ละชนิดจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตแตกต่างกัน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในผลไม้อยู่ในรูปแบบของน้ำตาล โดยผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลมาก เช่น ทุเรียนมีน้ำตาลประมาณ 30 – 35% ส้มมีน้ำตาลประมาณ 10% และมะขามหวาน มีน้ำตาลมากถึง 75 – 80% ซึ่งผลไม้ยิ่งหวานมาก ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วงสุก องุ่น เป็นต้น

ถึงแม้ว่าผลไม้จะมีน้ำตาล แต่ก็ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงด แต่ควรกินตามปริมาณที่กำหนด โดยแนะนำว่าสามารถกินได้วันละ 2-3 มื้อ ในปริมาณ 7-8 ชิ้น คำ/มื้อ

อ้างอิง :