ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน ภัยที่ต้องระวังสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โรคเบาหวานอาจจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทว่าภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานกลับเป็นสิ่งที่อันตรายสูงมาก เพราะหากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งวันนี้เราจะมาดูกันว่า ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน แบบใดบ้างที่ต้องระวังและมีวิธีการป้องกันดูแลอย่างไร จึงจะสามารถลดความรุนแรงของภาวะนั้นได้ 


ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน คืออะไร

ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน คือ ภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกาย โดยมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเกิดในผู้ป่วยที่มีเป็นโรคเบาหวาน 5 ปีขึ้นไปและมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดน้อย จึงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายและมีความรุนแรง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานแรก ๆ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นน้อย แต่ถ้ามีอัตราการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ ย่อมมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจะมีอันตรายต่อสุขภาพค่อนข้างสูง 


ชนิดของภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาวหวานมีความรุนแรงอยู่ในหลายระดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยภาวะแทรกซ้อนมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

  1. ภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน คือ ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานผู้ป่วยที่ยังไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานหรือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา ขาดยา หยุดยา โดยไม่ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เช่น สูงหรือต่ำระดับรุนแรง เลือดเป็นกรด เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลันนี้อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน
  2. ภาวะแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง คือ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ป่วยที่ทำการรักษาโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงสูงบ้าง ต่ำบ้าง  แต่ยังไม่สูงหรือต่ำในขั้นรุนแรง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลนี้จะส่งผลต่อหลอดเลือด โดนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 
  • ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่หลอดเลือดขนาดเล็ก เป็นภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็กมีการตีบทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะที่ส่วนปลายหลอดเลือดได้น้อยหรือหลอดเลือดโป่งพอง ทำให้เลือดไปตกค้างยังอวัยวะปลายหลอดเลือดมากเกินความจำเป็น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวานที่หลอดเลือดเล็กพบได้ คือ 
  • ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจอประสาทตาเสื่อม, ตาบอด
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ไต ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตและเกิดภาวะไตวาย
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท ผู้ป่วยมีอาการชาที่ปลายเท้าและหากมีโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจจะต้องตัดนิ้วหรือตัดขาได้
  • ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดใหญ่เกิดภาวะตีบ เลือดแข็งตัวเร็ว ทำให้เส้นเลือดใหญ่ไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง หัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวานที่หลอดเลือดใหญ่พบได้ คือ 
  • ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดหัวใจ  ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์,อัมพาต
  • ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทส่วนปลายไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะชาปลายมือ-เท้าและ เป็นแผลหายยาก

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจะเห็นว่าค่อนข้างอันตราย ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรัง ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง 


วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

จะเห็นว่าภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานค่อนข้างที่จะอันตรายต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังนี้

  1. ตรวจสุขภาพทุกปี สำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวานควรทำการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีว่ามีความเสี่ยงหรือมีภาวะโรคเบาหวานเกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน เพราะเมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงหรือเป็นโรคเบาหวานแล้ว ผู้ป่วยจะได้ทำการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานชนิดเฉียบพลันได้ 
  2. ควบคุมอาหาร อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน จำเป็นต้องทำการควบคุมอาหาร โดยเลือกกินอาหารที่มีน้ำตาลต่ำเป็นหลัก และรับประทานอาหารเป็นเวลา ไม่กินจุกจิก เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังเป็นจะทำให้อินซูลินในร่างกายมีความว่องไวต่อน้ำตาลจึงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การออกกำลังกายยังเป็นการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้มากขึ้น เมื่อมวลกล้ามเนื้อมากขึ้นจะมีการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่คงที่ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน ขี่จักรยาน การยกดัมเบล ฝึกการทรงตัว เป็นต้น
  4. กินยาต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องกินยา ควรกินยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง อย่าหยุดยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้ทำการรักษา เพราะการหยุดยาจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังได้ 
  5. พบแพทย์ตามนัด โรคเบาหวานเมื่อเป็นแล้วโอกาสที่จะรักษาให้หายได้มีน้อยมาก ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องทำการรักษาและติดตามอาการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อทำการตรวจภาวะของโรคเบาหวานว่ามีอาการคงที่หรือไม่ หากอาการคงที่แพทย์จะทำการปรับเปลี่ยนหรือหยุดยา และบอกแนวทางการดูแลตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีอาการหรือความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นก็ต้องไปตามนัดแพทย์ทุกครั้ง 

ถึงแม้ว่าโรคเบาหวานจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการและความรุนแรง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งท่านสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เพียงแค่ปฏิบัติตนตามคำแนะนำข้างต้น เพียงเท่านี้ภาวะแทรกซ้อนก็จะไม่เกิดขึ้นแล้ว


อ้างอิง